ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
(ฉบับที่ ๕)
เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านอำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน
พ.ศ.๒๕๔๗
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๑๑) มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสภาวิชาชีพบัญชี พ.ศ.๒๕๔๗ สภาวิชาชีพบัญชีจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๕) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน พ.ศ.๒๕๔๗
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน หมายความว่า คณะกรรมการตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.๒๕๔๗
การประชุมใหญ่ หมายความว่า การประชุมใหญ่สามัญหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ด้านมีประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีและกรรมการวิชาชีพบัญชีรวมกันอย่างน้อยคณะละเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน เว้นแต่คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ให้ประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ด้านมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่ และกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ด้านให้มาจากการเสนอชื่อของประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีในด้านนั้น โดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีต้องให้เห็นชอบด้วย
การเลือกตั้งประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน ให้นำข้อบังคับสภาวิชาชีพเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๕ ประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ต่อไปนี้
(๑) เป็นสมาชิกสามัญ
(๒) มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่สอดคล้องกับงานแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้
(ก) ด้านการทำบัญชีและด้านการบัญชีบริหาร
เป็นหรือเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินหรือฝ่ายบัญชีการบัญชี หรือดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออีกอย่างอื่นซึ่งมีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหรือบริษัทมหาชน ซึ่งมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท เป็นเวลารวมกันไม่ย้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง
(ข) ด้านการสอบบัญชี
เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง โดยต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าสองบริษัท หรือบริษัทมหาชนที่มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทอย่างน้อยหนึ่งบริษัทและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างน้อยหนึ่งบริษัท
(ค) ด้านการวางระบบบัญชี
(๑) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแห่นงผู้บริหารของกิจการที่ให้บริการวางระบบบัญชีแก่องค์กรต่างๆมาเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง และหรือ
(๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินหรือการบัญชี หรือดำรงตำแหน่งอย่างอื่นซึ่งมีหน้าที่อย่างเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหรือบริษัทมหาชน ซึ่งมีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง และหรือ
(๓) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในระดับไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาการบัญชีในสถาบันอุดมศึกษาที่ทางราชการให้การรับรอง ซึ่งเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กรณีคุณสมบัติและประสบการณ์ตาม (๑) (๒) และ (๓) อาจนับระยะเวลารวมกันได้ ในระหว่าง (๑) (๒) และ (๓) แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปีในวันเลือกตั้ง
(ง) ด้านการบัญชีภาษีอากร
(๑) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของกิจการที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านภาษีอากรแก่องค์การต่างๆ มาเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง
(๒) เป็นหรือเคยเป็นราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดหรือระดับรองของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ แล้วแต่กรณีและปฏิบัติหน้าที่ในงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีมาเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าห้าปี
ทั้งนี้ กรณีคุณสมบัติและประสบการณ์ตาม (๑) และ (๒) อาจนับระยะเวลารวมกันได้ ในระหว่าง (๑) และ (๒) แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปีในวันเลือกตั้ง
(จ) ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี
(๑) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในระดับไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาการบัญชีในสถาบันอุดมศึกษาที่ทางราชการให้การรับรองซึ่งสอนเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในวันเลือกตั้ง และหรือ
(๒) เป็นหรือเคยเป็นราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ผู้บริหารสูงสุดหรือระดับของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีแล้วแต่กรณี และปฏิบัติหน้าที่ในงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีมาเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าห้าปี
ทั้งนี้ กรณีคุณสมบัติและประสบการณ์ตามข้อ (๑) และ (๒) แต่เมื่อรวมกันได้ ในระหว่าง (๑) และ (๒) แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปีในวันเลือกตั้ง
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่เคยถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งให้พ้นจากสมาชิกภาพ สภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี หรือเพิกการให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีตามกฎหมายอื่น
(๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
(๖) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๗) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี หรือกระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
(๘) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
ข้อ ๖ กรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) เป็นสมาชิกสามัญ
(๒) ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีเป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสิบปีในวันเลือกตั้ง
(๓) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘)
ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ข้อ ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน และกรรมการวิชาชีพแต่ละด้านพ้นตำแหน่ง ด้วยแห่งดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ หรือข้อ ๖
(๔) สมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองร้อยเสียงให้ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุเป็นผู้กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแห่งเกียรติศักดิ์แห่งสภาวิชาชีพบัญชี
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้านมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในการประกอบวิชาชีพบัญชีในด้านนั้นและการประกอบวิชาชีพโดยรวม
(๒) ผดุงไว้ซึ่งแห่งการประกอบวิชาชีพบัญชีในด้านนั้น
(๓) ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานการประกอบวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน
(๔) ส่งเสริมและให้ความรู้ รวมทั้งเสนอแนะการสร้างประสบการณ์แห่งการประกอบวิชาชีพบัญชี เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ
(๕) ประสานการทำงานกับวิชาชีพบัญชีด้านอื่น และองค์กรวิชาชีพอื่น และประสานงานกับต่างประเทศหรือองค์กรอื่นใด เพื่อเป็นเครือข่ายแห่งการประกอบวิชาชีพ ภายใต้นโยบายของสภาวิชาชีพบัญชี
(๖) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในด้านนั้นในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพต่อสภาวิชาชีพบัญชี
(๗) กระทำการอื่นใดตามที่มติประชุมที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีมอบหมาย
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ |
เกษรี ณรงค์เดช |
(ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช) |
นายกสภาวิชาชีพบัญชี |
Download file : regulation5.pdf
|