ข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี
เรื่อง ขอบเขตของวิชาที่ต้องทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ . ศ . ๒๕๔๙
--------------
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕ วรรคสอง ของข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๓ ) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกหัดงาน การทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ . ศ. ๒๕๔๙ นายกสภาวิชาชีพบัญชี โดยอนุมัติคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี ออกข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี เรื่อง ขอบเขตของวิชาที่ต้องทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้ เรียกว่า ข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี เรื่อง ขอบเขตของวิชาที่ต้องทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ . ศ . ๒๕๔๙
ข้อ ๒ ข้อกำหนดนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ ๓ ขอบเขตของวิชาที่ต้องทดสอบตามหมวดที่ ๓ ข้อ ๘ ( ๒ ) ของข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๓) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกหัดงาน การทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ . ศ . ๒๕๔๙ เป็นดังนี้
(๑) วิชาการบัญชี ๑ ให้ทดสอบความรู้เกี่ยวกับ การจัดทำบัญชีและงบการเงิน ที่เกี่ยวกับแม่บทการบัญชี สินทรัพย์หมุนเวียน เงินลงทุน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน การด้อยค่าของสินทรัพย์ ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นและสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและการตีความมาตรฐานการบัญชี ของสภาวิชาชีพบัญชีที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน
(๒) วิชาการบัญชี ๒ ให้ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ที่เกี่ยวกับรายได้ของธุรกิจประเภทต่าง ๆ การนำเสนองบการเงิน งบการเงินระหว่างกาล การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและการตีความมาตรฐานการบัญชีของสภาวิชาชีพบัญชีที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการบัญชีต้นทุนที่เกี่ยวกับ ต้นทุนและวัตถุประสงค์ของการบันทึกบัญชีต้นทุน การคำนวณต้นทุนและการบันทึกบัญชี การปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิต การปันส่วนต้นทุนร่วมและการบัญชีสำหรับผลิตภัณฑ์ร่วมและผลิตภัณฑ์พลอยได้
(๓) วิชาการสอบบัญชี ๑ ให้ ทดสอบความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทั่วไปและแม่บทของมาตรฐานการสอบบัญชี การทุจริตและข้อผิดพลาด การควบคุมภายในและความเสี่ยงจากการควบคุม กระดาษทำการของผู้สอบบัญชี การเลือกตัวอย่างในงานสอบบัญชี หลักฐานการสอบบัญชี วิธีการรวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีและวิธีการตรวจสอบเนื้อหาสาระของรายการต่างๆ ในงบการเงิน การตรวจสอบรายได้ การตรวจสอบต้นทุนและค่าใช้จ่าย การตรวจสอบเงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ รวมถึงการตรวจสอบเงินลงทุน สินทรัพย์ถาวร เจ้าหนี้การค้า หนี้สินอื่น ส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม
(๔) วิชาการสอบบัญชี ๒ ให้ทดสอบความรู้เกี่ยวกับมรรยาท ( จรรยาบรรณ ) ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ข้อตกลงในการรับงานสอบบัญชี การวางแผนงานสอบบัญชี ความเสี่ยงในการสอบบัญชีและความมีสาระสำคัญ การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี การใช้บริการหรือผลงานของบุคคลอื่น การเขียนรายงานการสอบบัญชี การเขียนรายงานต่องบการเงินเปรียบเทียบ การตรวจสอบและการเขียนรายงานสำหรับการให้บริการเกี่ยวเนื่อง
(๕) วิชา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี ให้ทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ได้แก่กฎหมายว่าด้วยการบัญชี กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท ) กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ประมวลรัษฎากร และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลในการออกหลักทรัพย์ การเสนอขายหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์ และการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์
(๖) วิชาการสอบบัญชีที่ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ ให้ทดสอบความรู้เกี่ยวกับความรู้ทั่วไปในระบบสารสนเทศ การตรวจสอบในสภาพแวดล้อมของระบบสารสนเทศ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล การประเมินความเสี่ยงและการประเมินประสิทธิผลของการควบคุมในระบบสารสนเทศ เทคนิคการตรวจสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอบบัญชี
ทั้งนี้ รายละเอียดเนื้อหาและเค้าโครงของแต่ละวิชาที่ต้องทดสอบให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการทดสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชีกำหนด
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ . ศ. ๒๕๔๙
( ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช )
นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
Download file : sub-regulation13-subject.pdf
|