สวัสดี ท่านผู้ทำบัญชีทุกท่าน ขณะนี้ เดือนมีนาคม 2553 แล้ว คณะกรรมการด้านการทำบัญชีมีข่าวด่วนที่ต้องการแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ จากการที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์จัดทำมาตรฐานการบัญชีของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำลังเร่งจัดทำมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standard; IFRS) ฉบับเข้าเล่มปี 2009 (Bound Volume 2009) คือ ฉบับที่คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศแก้ไขสิ้นสุดในปี 2008 โดยมาตรฐานการบัญชี (Thai Accounting Standards; TAS) และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standards; TFRS) เหล่านี้ ต้องถือปฏิบัติกับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2554 และบางฉบับที่เนื้อหาและวิธีปฏิบัติยากจะเลื่อนไปปี 2556
การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีครั้งนี้เป็นกระแสคลื่นระลอกใหญ่ กิจการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเตรียมทั้งคน เงิน และเวลา โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว รวมถึงบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีบางฉบับเท่านั้น แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านการทำบัญชีรู้สึกว่า แม้สภาวิชาชีพบัญชีจะแจ้งข่าวสารนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ปรากฏว่า นักบัญชี CFO หรือ CEO บริษัทต่าง ๆ ไม่ได้ให้ข้อมูลป้อนกลับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่กิจการหลายแห่งยังไม่รับทราบข่าวสำคัญนี้หรือได้ทราบแล้วแต่ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไว้น้อยเกินไป เพราะแม้สภาวิชาชีพบัญชีจะเคยจัดประชุมชี้แจงแล้ว แต่ด้วยเวลาการประชุมที่จำกัด การชี้แจงให้ครอบคลุมประเด็นรายละเอียดที่อาจมีผลกระทบต่อกิจการจึงไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ หลายกิจการอาจคาดว่าผู้สอบบัญชีของท่านเป็นนายแพทย์ที่จะรักษา “โรคบัญชี” ได้ทุกอาการ ขณะที่นายแพทย์เหล่านั้นต่างมีความชำนาญเฉพาะด้านและมีประสบการณ์ มีข้อมูลประกอบต่างกันจึงอาจไม่สามารถรักษาโรคได้ทุกอาการเหมือนเคย เมื่อมองกลับมาในกิจการ ผู้บริหารของท่านอาจเล็งเห็นความสามารถของท่านที่ช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทางบัญชีได้เสมอ คณะกรรมการด้านการทำบัญชีขออนุญาตให้ความเห็นว่า ครั้งนี้ท่านต้องรวมใจเป็นหนึ่งและต้องชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบและร่วมทำงานกันให้ดี อย่า Underestimate มิฉะนั้นท่านอาจเผชิญ Mission Impossible ได้
ก่อนจบข่าวฉบับนี้ คณะกรรมการด้านการทำบัญชีขอเสนอแนวทางการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ สรุปได้ดังนี้
ฉบับที่ |
มาตรฐานการบัญชี |
บริษัทมหาชน |
บริษัทที่ไม่ใช่มหาชน |
1 |
การนำเสนองบการเงิน |
X |
X |
2 |
สินค้าคงเหลือ |
X |
X |
7 |
งบกระแสเงินสด |
X |
|
8 |
นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และข้อผิดพลาด |
X |
X |
10 |
เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน |
X |
X |
11 |
สัญญาก่อสร้าง |
X |
X |
16 |
ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ |
X |
X |
17 |
สัญญาเช่า |
X |
X |
18 |
รายได้ |
X |
X |
19 |
ผลประโยชน์ของพนักงาน |
X |
|
23 |
ต้นทุนการกู้ยืม |
X |
X |
24 |
การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน |
X |
|
26 |
การบัญชีและการรายงานโครงการผลประโยชน์หลังเกษียณอายุ |
X |
|
27 |
งบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ |
X |
|
28 |
เงินลงทุนในบริษัทร่วม |
X |
|
29 |
การรายงานในภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อรุนแรง |
X |
X |
31 |
ส่วนได้เสียในการร่วมค้า |
X |
|
33 |
กำไรต่อหุ้น |
X |
X |
34 |
งบการเงินระหว่างกาล |
X |
X |
36 |
การด้อยค่าของสินทรัพย์ |
X |
|
37 |
ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น |
X |
X |
38 |
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน |
X |
X |
40 |
อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน |
X |
X |
ฉบับที่ |
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน |
บริษัทมหาชน |
บริษัทที่ไม่ใช่มหาชน |
2 |
การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ |
X |
|
3 |
การรวมธุรกิจ |
X |
X |
5 |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก |
X |
X |
6 |
การสำรวจและประเมินค่าแหล่งทรัพยากรแร่ |
X |
X |
ในฉบับหน้า คณะกรรมการด้านการทำบัญชีจะเล่าถึงกระบวนการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีเหล่านี้เพื่อให้กิจการเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม ในระหว่างนี้ ขอให้ท่านผู้ทำบัญชีทุกท่าน ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมไว้ แล้วพบกันใหม่ทุก 2 สัปดาห์
ที่มา : www.fap.or.th
|