เข้าใจ CPTA (ซีพีทีเอ) ความสำคัญ ภาษีและบัญชี
จากข่าวกรมสรรพากรจะได้มีการกำหนดให้มี ซีพีทีเอ (CPTA) หรือผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากรเป็นการเฉพาะ เพื่อแทนที่การตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) หรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ทำให้มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ CPTA ที่ Website ของกรมสรรพากรกันมาก ในขณะที่เรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ CPTA ออกมาใช้บังคับ
1.เข้าใจว่า CPTA น่าจะนำแบบอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้มืออาชีพในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรอย่างได้ผล เพราะทุกวันนี้ผู้เสียภาษีมีมาก ลำพังเจ้าหน้าที่สรรพากรมีน้อยย่อมดูแลไม่ทั่วถึง และ CPA หรือ TA ที่มีอยู่ก็เน้นเพื่อการรับรองบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี และเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร เท่านั้น ซึ่งแต่ละคนเซ็นงบจำนวนมากนับเป็นร้อยราย ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้ากรมสรรพากรทดลองเรียก ผู้รับรองมาไต่สวนสอบถามจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกิจการที่รับรองเลย ดังนั้นการที่ CPA หรือ TA รับรองแล้วนั้นคงไม่สามารถเชื่อได้ว่า กิจการนั้นเสียภาษีถูกต้อง
2. นับเป็นแนวคิดที่ดีที่จะนำ CPTA มารับรองบการเสียภาษีเป็นการเฉพาะ นอกเหนือจาก CPA หรือ TA ที่ควรรับรองความถูกต้องทางมาตรฐานบัญชีเท่านั้น อีกทั้งก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า CPA หรือ TA จะมีความรู้ความชำนาญ
ด้านภาษีสรรพากร ซึ่งยากแก่การทำความเข้าใจ จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์พอสมควรและต้องมีองค์ความรู้หลากหลายประกอบที่จะเข้าใจได้ถึงธุรกิจและภาษีอากร
ซึ่งหากกิจการใดมี CPTA ผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นผู้รับรองงบการเสียภาษีสามารถอธิบายได้ เชื่อว่า CPTA ผู้นั้นจะไม่กล้ารับรองการเสียภาษีได้ง่าย ๆ เพราะมีความรู้ความเข้าใจว่ากิจการนั้นเสียภาษีถูกต้องหรือไม่เพียงไร
และเชื่อได้ว่า CPTA แต่ละคนจะรับรองจำนวนรายได้ไม่มาก เพราะต้องมีความรับผิดชอบ อีกทั้งอาจต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ก็จะทำให้การเสียภาษีของกิจการดีขึ้นเป็นการช่วยเหลือทางราชการ
ได้อย่างมาก
3. วิธีคัดกรองหา CPTA ที่ต้อง มีความรู้ความสามารถ เพื่อนำมาช่วยในการควบคุมกำกับดูแลการจัดเก็บภาษีอากร อัน จะเป็นผลดีต่อทางราชการ หัวใจสำคัญของการเสียภาษีอากรอยู่ที่ประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายเฉพาะ ผู้ที่จะเป็น CPTA ควรเน้นความเข้มข้นพื้น ความรู้ทางกฎหมายมากกว่าทางบัญชี ทั้งนี้ เนื่องจากงบการเงินที่ยื่นเพื่อเสียภาษีได้มีการรับรองมาตรฐานบัญชีจาก CPA หรือ TA อยู่แล้ว.
ที่มา : www.cpaccount.net |