กรณีศึกษา
บริษัทประกอบกิจการขายอุปกรณ์โทรศัพท์และตู้สาขาพร้อมให้บริการติดตั้ง และบริษัทก็ทำการขายอะไหล่อุปกรณ์โทรศัพท์และรับซ่อมอุปกรณ์โทรศัพท์ด้วย ซึ่งการออกใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินจากลูกค้า บริษัทจะปฏิบัติดังนี้
1. ออกใบแจ้งหนี้เฉพาะค่าสินค้า คือค่าอุปกรณ์และค่าอะไหล่ 1 ฉบับ และออกใบแจ้งหนี้เฉพาะค่าแรงคือค่าบริการอีก 1 ฉบับ แม้ลูกค้าจะออกใบสั่งซื้อรวมค่าแรงก็ตาม
2. ออกใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า คือค่าอุปกรณ์หรือค่าอะไหล่รวมกับค่าบริการติดตั้งหรือค่าแรง 1 ฉบับ โดยแยกราคาให้เห็นอย่างชัดเจน
3. ออกใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า คือค่าอุปกรณ์หรือค่าอะไหล่รวมกับค่าบริการติดตั้งหรือค่าแรง 1 ฉบับ โดยไม่ได้แยกราคาออกจากกัน
บริษัทจึงหารือว่า เมื่อลูกค้าชำระราคาตามใบแจ้งหนี้ในกรณีีที่1และ2 ลูกค้ามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายได้เฉพาะในส่วนของค่าบริการติดตั้งเท่านั้น ส่วนกรณีที่3 บริษัทถือว่าเป็นการขายสินค้า ลูกค้าไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ความเห็นของบริษัทถูกต้องหรือไม่
คำวินิจฉัย
1. กรณีบริษัทประกอบกิจการขายอุปกรณ์โทรศัพท์และตู้สาขาพร้อมให้บริการติดตั้งในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะออกใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งแยกจากกัน คือ ค่าอุปกรณ์และค่าอะไหล่ 1 ฉบับ และออกใบแจ้งหนี้เฉพาะค่าแรงคือค่าบริการติดตั้งอีก 1 ฉบับ หรือ ออกใบแจ้งหนี้ฉบับเดียว คือ ค่าอุปกรณ์หรือค่าอะไหล่รวมกับค่าบริการติดตั้งหรือค่าแรง 1 ฉบับ โดยแยกราคาให้เห็นชัดเจน ในส่วนของค่าบริการติดตั้งนั้น ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2548 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528
2. สำหรับการรับซ่อมอุปกรณ์โทรศัพท์และขายอะไหล่อุปกรณ์โทรศัพท์ ถือว่าเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งรวมทั้งค่าซ่อมด้วย แม้จะแยกเป็นค่าอะไหล่และค่าแรงก็ตาม ถือเป็นการให้บริการ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดจากการให้บริการ ซึ่งรวมค่าอะไหล่ด้วยมารวมคำนวณเป็นฐานภาษี สำหรับการให้บริการตามมาตรา79 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2548 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528
3. การขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้ง
โดยคิดราคาค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งรวมกัน ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้ขายส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้นเมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้าที่บริษัทเรียกเก็บจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2548 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528
(หนังสือกรมสรรพากรที่ กค0802/พ.20419 ลงวันที่ 11 กันยายน 2538)
|